bannerfull2021

 

เนื่องจาก โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ใด้ทำการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเว็ปไซต์ใหม่ จึงแจ้งมาเพื่อทราบ

ขออภัยในความไม่สะดวก 

 

เว็ปโรงพยาบาลพหลฯ (ใหม่)

 

ประวัติพระยาพระหล

ประวัติ

นายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา[1] นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย มีนามเดิมว่า “พจน์ พหลโยธิน” เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 เวลา 03.30 น.ณ บ้านหน้าวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (ถิ่น พหลโยธิน) (บางตำราว่าเขียนนามบิดาของท่านว่า กิ่ม และบางตำราว่าเขียนนามมารดาของท่านว่า จีบ) กับคุณหญิงจับ พหลโยธิน สมรสกับคุณหญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา

การศึกษา

นายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เริ่มการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) และย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสุขุมาลวิทยาลัย จนกระทั่งเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียน นายร้อยทหารบก โดยมีผลการเรียนดีมาตลอด ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกในเมืองโกรสลิสเตอร์ เฟล เด ประเทศเยอรมนี ศึกษาอยู่ 3 ปี ต่อจากนั้นได้เข้าประจำอยู่ในกองทัพบกเยอรมัน สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4

ในปี พ.ศ. 2455 ได้เดินทางไปศึกษาต่อวิชาช่างแสงที่ประเทศเดนมาร์ก เรียนได้ปีเดียวถูกเรียกตัวกลับเนื่องจากเงินทุนการศึกษาไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

การรับราชการ

นายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา รับราชการครั้งแรกประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 จังหวัดราชบุรี อีสามปีต่อมาได้เข้าประจำกรมทหารปืนใหญ่บางซื่อ จังหวัดพระนคร ในราวปี พ.ศ. 2459

ในปี พ.ศ. 2560 ได้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 9 จังหวัดฉะเชิงเทรา

ในปี พ.ศ. 2461 ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ที่ 2 จังหวัดพระนคร

ในปี พ.ศ. 2462 ได้ย้ายมาประจำกรมทหารปืนใหญ่ทหารบก กระทรวงกลาโหม และได้รับมอบหมายให้เดินทางไปตรวจรับปืนใหญ่และดูกิจการทหารในประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าปฏิบัติงานได้ดีเยี่ยม จนได้รับคำชมเชยจากมหาจักรพรรดิญี่ปุ่นและได้รับพระราชทานตราตั้ง “ตราพิภพสมบัติ” เป็นเกียรติสำหรับตนเองและประเทศชาติ

ในชีวิตราชการนั้นนายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงและพระตามลำดับ ในราชทินนามเดียวกันว่า “สรายุทธสรสิทธิ์” และได้เลื่อนยศทางทหารมาตามลำดับ กระทั่งได้เป็นนายพันเอก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 (บางตำราว่าวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471)

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์เวร

วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพหลพลพยุหเสนา” มีราชทินนามเดียวกับบิดา

ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทางทหาร

ร้อยตรี วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2454
ร้อยโท วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2457
ร้อยเอก วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2459
พันตรี วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2462
พันโท วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
พันเอก วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2471
นาวาเอก นาวาอากาศเอก วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2480
พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482
พลโท วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2484
พลเอก วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2485
พลเรือเอก พลอากาศเอก วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486

ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2475 – วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2476
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2476 – วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2481
วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2487 – วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2489

ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์

เป็นหลวงสรายุทธสรสิทธิ์ วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2461
เป็นพระสรายุทธสรสิทธิ์ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2467
เป็น พระยาพหลพลพยุหเสนา วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474
ลาออกจากบรรดาศักดิ์ วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2485
กลับมาใช้บรรดาศักดิ์เดิม วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488

บทบาททางการเมือง

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้ร่วมกับ “คณะราษฎร” โดยเป็นหัวหน้าคณะราษฎรและเป็นหัวหน้าสายทหารบก ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”มาเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ได้รับตำแหน่งพิเศษ เป็นกรรมการกลางกลาโหม ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 จึงได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก (บางตำราเดือนกรกฎาคม) และดำรงตำแหน่งกรรมการราษฎร รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของพระยามโนปกรณนิติธาดา

ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้กระทำรัฐประหารรัฐบาลของพระยามโนปกรณนิติธาดา (สมัยที่ 3) อันเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรีปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญ โดยนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (ยศในขณะนั้น) ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทยหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออก โดยอ้างเหตุผลว่าหย่อนความรู้ในทางกฎหมายและการเมือง แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอร้องให้รับตำแหน่งต่อไปและทรงแจ้งไปยังสภาฯ ขอให้สนับสนุนคำขอร้องของพระองค์ท่านด้วย ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีบางตำแหน่ง

รัฐมนตรีที่เข้าดำรงตำแหน่งใหม่ ซึ่งควรกล่าวถึง คือ นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2476 (ต่อมาคือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 8) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2476 (ต่อมาคือ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7)

การดำรงตำแหน่ง

สมัยที่ 1 : คณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 : 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476
สมัยที่ 2 : คณะรัฐมนตรีคณะที่ 5 : 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476 – 22 กันยายน พ.ศ. 2477
สมัยที่ 3 :
 
คณะรัฐมนตรีคณะที่ 6 : 22 กันยายน พ.ศ. 2477 – 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480
รักษาการในตำแหน่งถึง 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480
สมัยที่ 4 : คณะรัฐมนตรีคณะที่ 7 : 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480
สมัยที่ 5 :
 
คณะรัฐมนตรีคณะที่ 8 : 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 – 11 กันยายน พ.ศ. 2481
รักษาการในตำแหน่งถึง 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง

ในช่วงเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรีของ พระยาพหลพลพยุหเสนา นั้นได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง แต่เหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ได้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์คือ

1. เกิดการกบฏครั้งใหญ่ในเมืองไทย อย่างนองเลือด โดยทหารไทยต่อทหารไทยกันเอง ซึ่งถือว่าเป็นการกบฏครั้งแรก ในระบอบประชาธิปไตย หลังจาก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพียง 4 เดือน กบฏครั้งนี้เรียกว่า กบฏบวรเดช โดย พลเอกหม่อมเจ้าบวรเดชกฤดากร เป็นหัวหน้าก่อการกบฏในครั้งนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยมีเหตุผลว่า ไม่พอใจต่อการบริหารบ้านเมือง ในสมัยนั้นแต่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ปราบกบฏให้สงบได้ แต่ผลคือมีทหารไทยและประชาชนได้เสียชีวิตและเสียเลือดเนื้อ พร้อมทั้งทรัพย์สินไปเป็นอันมาก

2. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์แรกในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ ทรงยอมรับ เห็นด้วยและสนับสนุน ทรงยอมลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้บ้านเมืองปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ตอนหลังพระองค์ทรงมีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาล โดยเห็นว่าการบ้านเมืองในคณะนั้นยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และแท้จริง จึงทรงประท้วงด้วยการสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 และเสด็จไปประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ ตลอดพระชนมายุของงพระองค์ จนกระทั่งสวรรคต

3. ได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประชาชนได้เลือกมาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 โดยมีสมาชิกจำนวน 78 คน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 ถือว่าเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของเมืองไทย ของระบอบประชาธิปไตย เหตุผลในการยุบสภาฯครั้งนั้น เพราะรัฐบาลแพ้ที่ประชุมสภาฯ ในญัตติเรื่องการจัดทำรายละเอียดงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปเป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นอันว่า พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี 4 ครั้ง และเมื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาใหม่ พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 5

ในกลุ่มของคณะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรก ซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าในครั้งนั้น ซึ่งเรียกตัวเองว่า คณะราษฎร์ มีทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน โดยเฉพาะกลุ่มทหารบก ซึ่งมีฉายาว่า 3 ทหารเสือ หรือทหารสามเกลอ ประกอบด้วย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระทรงสุรเดช พันเอก พระยาฤทธิอาคเนย์ ทั้งสามท่านนี้ถือว่า เป็นสามเกลอ เคียงบ่าเคียงไหล่กันมา ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น แต่หลังจากทำการปฏิวัติเรียบร้อยแล้วได้เกิดแตกแยกกัน ครั้งแรกก็แตกแยกกันในเรื่องความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง และความแตกแยกในเรื่องความคิดเห็นนี้ ก็กลายเป็นความแตกแยกความสามัคคีในที่สุดก็กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ ทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งแล้วครั้งเล่า และกลายมาเป็นประเพณีทางการเมืองต่อมา คือเมื่อเกิดความแตกแยกความสามัคคีกันทีหนึ่ง ก็เกิดการปฏิวัติขึ้นทีหนึ่ง เพื่อให้เกิดความสามัคคีกันต่อไปใหม่

สมัยที่พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการแตกแยกกันเป็นประจำ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงถึงขั้นปฏิวัติในหมู่เพื่อนฝูงกันเอง

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2481 นายทหารหนุ่มรุ่นน้อง คือ พันเอกหลวงพิบูลย์สงคราม หรือทุกคนรู้จักกันในนาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้จัดตั้งกลุ่มทหารขึ้นที่เรียกว่า “กลุ่มยังเตอร์ก” และได้ใช้กลวิธีการเมืองตามวิธีทางระบอบประชาธิปไตย ผลักดันให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ยุบสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาใหม่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนมาก ทั้งประเภทเลือกตั้งและแต่งตั้งกลับหันไปสนับสนุน พันเอกหลวงพิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนาได้รับการยกย่องให้เป็น “เชรษฐบุรุษ” ซึ่งเป็นตำแหน่ง กิตติมศักดิ์ มีความหมายในทางชื่อเสียง แต่ไม่มีความหมายทางการเมือง

“เชรษฐบุรุษ” ได้แสดงบทบาททางการเมืองที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งก่อนจะเสียชีวิต เมื่อ พ.ศ. 2487 ซึ่งครั้งนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของมหาสงครามเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ตอนนั้นมีข่าวลือกันหนาหู ว่าจะมีการปฏิวัติชิงอำนาจกันเกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งตอนนั้นเต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่น ที่เราถือว่าเป็น “มหามิตร” ในระหว่างสงคราม

ตอนนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมติในสภาในการร่างกฎหมายนครบาลเพชรบูรณ์ และกฎหมายพุทธมณฑล ในระหว่างนั้นนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ และที่มีข่าวว่าจะมีการปฏิวัตินั้นก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นเอง

รัฐบาล นายควง อภัยวงค์ จำเป็นจะต้องให้ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เชษฐา เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีลอย เป็นตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ซ้อนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพราะพระยาพหลพลพยุหเสนา ยังมีบารมีอยู่มากสำหรับกองทัพ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา กำลังป่วยเป็นอัมพาต เดินไม่ได้ต้องหามเข้าที่ประชุมวางแผน ซึ่งตอนนั้นเรียกกันว่า “ประชุมวางแผนรับศึกจอมทัพ” ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญสุดท้ายของพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งก็สามารถยุติข่าวลือการปฏิวัติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้นได้ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ลงข่าวกันว่า นั่นเป็นการไว้ลายของ ชาติเสือต้องไว้ลาย

ผลงานที่สำคัญ

ตลอดระยะเวลาที่บริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ จนต้องลาออกจากตำแหน่งหลายครั้ง และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ รวม 5 สมัย และเป็นแม่ทัพใหญ่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับยกย่องเป็น “เชษฐบุรุษ” เนื่องจากมีคุณูปการต่อบ้านเมืองเป็นหัวหน้าคณะราษฎรทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองนำระบอบประชาธิปไตยมาสู่ปวงชนชาวไทย และตลอดชีวิตได้รับราชการด้วยความซื่อสัตย์ (ในหนังสือ 100 ปี พระยาพหลฯ ของสำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ เรียบเรียงโดย นเรศ นโรปกรณ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในหน้า 9 ว่า เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม ในบ้านมีเงินเพียง 177 บาท ไม่พอแม้ซื้อโลงศพท่านเอง จนรัฐบาลต้องอุปถัมภ์ แม้หนังสือแจกในงานศพรัฐบาลสมัยนั้นซึ่งพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องอุปถัมภ์งานศพ รวมทั้งช่วยจัดหนังสืออนุสรณ์ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เขียนคำนำเอง) จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งของไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเป็น พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก โดยก่อนหน้านี้ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพหลพลพยุหเสนา” และมีตราประจำตระกูลเป็นรูปเสือในกงจักร โดยมีคำขวัญประจำตัวว่า “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ”

อสัญกรรม

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมอายุได้ 60 ปี

ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง 5 สมัย 5 ปี 5 เดือน 21 วัน